เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 3. จตุโปสถิยชาดก (441)
[18] การปล้นฆ่าชาวบ้าน การจี้ข่มขู่เอาทรัพย์ การคดโกง
และการหลอกลวงย่อมปรากฏมีอยู่ในบุคคลผู้มีความโลภ
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโลภ
[19] ความผูกพันที่ถูกความเสน่หาร้อยรัดไว้อันเกิดแต่ใจ
นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้เดือดร้อนมากมาย
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความเสน่หา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[20] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[21] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาเมื่ออยู่ในป่า ก็อยู่เพียงผู้เดียวเป็นนิตย์
อาพาธทั้งหลายที่ร้ายกาจซึ่งกระทำอันตรายได้ขออย่าได้เกิดขึ้นเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[22] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[23] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
ใจก็ตาม กายก็ตาม
ขออย่าได้เข้าไปกระทบกระทั่งใคร ๆ ในกาลไหน ๆ
เพราะการกระทำของอาตมาเลย อาตมาปรารถนาพรดังนี้
กัณหชาดกที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :324 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 3. จตุโปสถิยชาดก (441)
3. จตุโปสถิยชาดก (441)
ว่าด้วยบุคคลทั้ง 4 รักษาอุโบสถ
(วรุณนาคราชกล่าวว่า)
[24] นรชนใดไม่ทำความโกรธในบุคคลที่ควรโกรธ
และไม่โกรธในกาลไหน ๆ
นรชนนั้นเป็นสัตบุรุษ
สัตบุรุษนั้นแม้จะโกรธก็ไม่เปิดเผยความโกรธ
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[25] นรชนใดมีท้องพร่องอยู่ ยังอดทนต่อความหิวได้
ฝึกตนได้ มีตบะ ดื่มน้ำและบริโภคอาหารพอประมาณ
ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[26] นรชนใดละการเล่นและความยินดีในกามทั้งปวงเสียได้
ไม่พูดเหลาะแหละอะไร ๆ ในโลก
งดเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายและจากเมถุนธรรม
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พระเจ้าธนัญชัยได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[27] อนึ่ง นรชนใดสละความหวงแหนและโลภธรรมทั้งปวงได้
ด้วยปัญญาเครื่องกำหนดรู้
นรชนนั้นแลผู้ฝึกตน มีความมั่นคง
ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นของเรา หมดความหวัง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :325 }